นิทรรศการอเมริกัน-อีสาน

ศตวรรษ 20 ยุคสงครามเย็น ที่ผู้คนบนโลกยังคงมีความเชื่อทางอุดมการณ์ออกเป็นสองฝ่าย ค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มีอเมริกาเป็นหัวหอกและค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่มีจีนและรัสเซียเป็นผู้สนับสนุน แผ่อิทธิพลมายังหมู่ประเทศอินโดจีน เวียดนาม กัมพูชาและลาวถัดมา ยังคงหลงเหลือแค่ประเทศไทยเท่านั้นที่ยังปกครองด้วยเสรีประชาธิปไตยที่อเมริกาใช้เป็นด่านหน้าเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ขยายอิทธิพลและกำลังจะเป็นโดมิโน่ในประเทศแถบนี้

เมื่อสงครามเวียดนามอุบัติขึ้นตั้งแต่ 1960 หลังจากนั้น ประเทศไทยภายใต้การนำของ รัฐบาลทหาร นายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี1967 มีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุนภาคพื้นรายใหญ่อันดับ3 รองจาก อเมริกาและเกาหลีใต้ ทำให้เกิดฐานทัพและมีกำลังพลทหารอเมริกันมาปฎิบัติหน้าที่อยู่เป็นจำนวนมากนับแสนนาย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ที่มีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่มากที่สุด ภาคอีสานถือเป็น ”ป้อมปราการ” สำคัญเพราะมีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวรบของสหรัฐอเมริกาในลาวและเวียดนาม 

ส่งผลให้ภาคอีสานเกิดเส้นทางการพัฒนาเพื่อส่งกำลังบำรุงไปยังฐานทัพหรือแนวหน้า เกิดการพัฒนาครอบคลุมในหลายๆด้าน ทั้งด้านอุตสาหกรรม ธุรกิจ บริการ มีการพัฒนาหัวเมืองขนาดใหญ่ไปจนถึงในระดับการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆในเขตชนบท อันเป็นผลจากการร่วมมือกันของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายไทย-อเมริกา ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของถนน “มิตรภาพ” ซึ่งเป็นเส้นทางหลักเอง ก็เพื่อความสะดวกในการขนส่งลำเลียงกำลังบำรุง กำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆไปยังฐานทัพของอเมริกาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน 

เมื่อมีกำลังพลทหารอเมริกันเข้ามาประจำการอยู่ในฐานทัพต่างที่กระจายอยู่ทั่วภาคอีสานบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรอบๆก็เกิด ธุรกิจและการจ้างงานคนไทยตามมาเพื่อเข้าไปทำงานในฐานทัพ  เกิดธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ โรงหนัง ธุรกิจบริการกลางคืน เพื่อตอบสนองต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกำลังพลอเมริกาที่มาประจำการในประเทศไทย 

บาร์เรียบง่ายแบบจากวัสดุพื้นบ้านที่หาได้ง่ายๆสร้างขึ้นตามความเข้าใจของชาวบ้านในยุคนั้นเพื่อตอบสนองวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของทหารอเมริกันในยุคสงครามเวียดนามที่โหยหาตอบสนองความบันเทิงเพื่อผ่อนคลายจากหน้าที่การงานในแนวรบและความเหงาจากการไกลบ้าน พื้นที่้เช่นนี้ได้เกิดขึ้นมากมากมายตามหัวเมืองที่มีการตั้งฐานทัพและได้นำพาวัฒนธรรมร่วมสมัยทางด้านดนตรีเสียงเพลง,แฟชั่น มาพร้อมกันกับบรรดาเหล่าทหารทำให้เกิดความต้องการในตัวนักดนตรี,วงดนตรี เพื่อเข้าไปเล่นที่เบสแคมป์ ตามผับ บาร์ ต่างๆเป็นจำนวนมาก เกิดกระแสค่านิยมแนวดนตรีต่างๆและวัฒนธรรมอเมริกันกันอย่างแพร่หลาย ส่งผลและมีอิทธิพลแรงบันดาลใจให้หนุ่มสาวในยุคนั้นและยุคต่อๆมาเป็นอย่างมาก 

วัฒนธรรมร่วมสมัยของชาวอเมริกันจำนวนมากได้ไหลทะลักเข้ามาในช่วงนั้นทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินตราหมุนเวียนทางเศรษฐกิจขึ้นอย่างคึกคัก บางคนค้าขายกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยกันถ้วนหน้าในช่วงเวลานี้ จากการค้าขายกับเหล่าทหาร เกิดกระแส”อเมริกานุวัตร”(Americanization) จากอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทยอยู่นานนับสิบปีนี้เองทำให้เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก รวมไปถึงความหลงใหลและไลฟ์สไตล์ในแบบอเมริกันที่ผสมผสานกับท้องถิ่นอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

หมู่บ้านอีสาน จิมทอมป์สัน ฟาร์มในธีม American Isaan ภาพรวมเสมือนเป็นนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่จำลองประวัติศาสตร์ขนาดย่อมโดยมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างความเป็นวิถีอเมริกันที่พำนักอยู่ในประเทศไทยรวมไปถึงบทบาทวิถีชีวิตของผู้คนในภาคอีสานที่ผสมกลมกลืนกันในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม สะท้อนผ่านภาพของ”งานเอาบุญ” รื่นเริงเฉลิมฉลองของแคมป์ทหารอเมริกันในหมู่บ้านอีสาน เป็นความจริงที่ว่าสงครามเป็นเรื่องที่โหดร้ายและสร้างความบอบช้ำให้แก่ผู้คนไม่สมควรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วในมุมนึงก็ได้สร้างและหลอมหลวมวิถีชีวิตของวัฒนธรรมที่แตกต่างจากความความลื่นไหลทางวัฒนธรรมแบบนี้เองทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ๆที่สร้างแรงขับเคลื่อนกระตุ้นและตระหนักรู้ต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม